กำเนิดเหรียญกษาปณ์ในอาณาจักรอิสลาม


ในสมัยที่อาณาจักรอิสลามก่อกำเนิดนั้น ชนกลุ่มแรกที่นับถือศาสนานี้คือ "ชาวอาหรับ" ผู้ซึ่งเป็นชนทะเลทราย ไม่ได้มีระบบเงินตราและเทคโนโลยีระบบการผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นของตัวเอง พวกเขาใช้เหรียญตราของ 2 มหาอำนาจของภูมิภาคนั่นคือ จักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ และ จักรวรรดิเปอร์เซียซาสซานียะฮ์ ซึ่งมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นระบบและมีการผลิตเหรียญกษาปณ์มาอย่างยาวนาน โดยเหรียญเหล่านี้ถูกหมุนเวียนใช้ในแถบแคว้นชาม (Levant - ซีเรีย จอร์แดน ปาเลสไตน์) และทางตะวันออกคือเปอร์เซีย เมโสโปเตเมียและอิรัก...
ราวกลางคศว.ที่ 7 เมื่ออาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายจากคาบสมุทรอารเบีย เข้าพิชิตดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของทั้งสองจักรวรรดิยักษ์ใหญ่ ชาวมุสลิมเองเมื่อได้สัมผัสกับอารยธรรมโรมัน-เปอร์เซีย บวกกับต้องการบริหารงานการปกครองด้านต่างๆ ให้เป็นระบบระเบียบของอาณาจักรใหม่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ จึงได้รับสืบทอดเอาระบบการบริหารราชการของโรมัน-เปอร์เซียเข้ามาผสมผสานด้วย ตัวอย่างเช่นการจัดตั้งระบบดิวาน (Divan - เป็นคำเปอร์เซีย) ในการจัดระบบแคว้นที่ยังสอดคล้องกับดินแดนดั้งเดิม การทหาร การจัดเก็บภาษี (ดิวาน อัล เคาะรอจ) ฯลฯ ซึ่งรวมเงินตราเหล่านี้เข้ามาใช้ด้วย...
รูปแบบของเหรียญแบบอิสลามรุ่นแรก คือ เหรียญอาหรับ - ซาสซาเนี่ยน (Arab-Sasanian) ว่ากันง่ายๆการเลียนแบบเหรียญของเปอร์เซียซาสซานียะฮ์ โดยคงรูปแบบของเหรียญเงิน drachms ของเปอร์เซีย (คำนี้ต่อมาคือ ดิรฮัม درهم - Dirham ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน) และมีรูปของใบหน้าจักรพรรดิเปอร์เซียปรากฏอยู่ (เช่น จักพรรดิ Khusrau II หรือ Yazdegerd III) แต่กระนั้นก็มีการดัดแปลงพิมพ์ภาษาอาหรับแบบกูฟีย์ (Kufic script) เล็กๆลงไปด้วย ซึ่งเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เช่น بسم الله บิสมิลละฮ์ (ด้วยพระนามของอัลลอฮ์) جيد ญัยยิด (ดี) بسم الله ربي บิสมิลลาฮ์ ร็อบบี (ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้อภิบาลของฉัน)
ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ เหรียญอาหรับ -ไบแซนไทน์ (Arab-Byzantine) ซึ่งใช้กันในแคว้นชามและอียิปต์ซึ่งอยู่ในอาณัติเดิมของไบแซนไทน์ ที่เรียกว่า Nummus และ Follis (คำนี้ปัจจุบันชาวอาหรับก็ยังใช้อยู่ คือคำว่า ฟิลส์ หรือ ฟูลุส) ผลิตจากทองแดง และ Denarius ซึ่งเป็นเหรียญทองคำ (ที่มาของเหรียญและสกุลเงิน ดินาร دينار - Dinar) และมีรูปจักพรรดิโรมัน (เช่น Heraclius ฯลฯ) บ้างมีรูปไม้กางเขนปรากฏอยู่ ซึ่งเมื่อมุสลิมรับมาใช้ก็มีการดัดแปลงเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของ อับดุลมาลิก อิบนุ มัรวาน (ค.ศ. 685–705) คอลีฟะฮ์คนที่ 5 แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad) ซึ่งกล่าวกันว่าครั้งหนึ่งเมื่อ อับดุลมาลิกเขียนจดหมายไปยังจักรพรรดิไบแซนไทน์ โดยขึ้นหัวกระดาษว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์" จักรพรรดิได้ส่งจดหมายขู่กลับว่า ถ้ายังขืนใช้ประโยคเช่นนี้ในจดหมายอีก จะมีการออกคำสั่งให้ผลิตเหรียญที่มีการล้อเลียนและดูถูกศาสดาของท่านออกหมุนเวียน...(ตอนนั้นก็ยังฮึ่มๆกันอยู่)
เมื่อเห็นว่า ถ้าขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะเป็นจะเป็นปัญหาใหญ่ อับดุลมาลิก จึงให้ยกเลิกการใช้เหรียญโรมันในระบบเงินตราของอาณาจักรอิสลาม และสั่งให้มีการก่อตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นในเมืองหลวงดามัสกัส (ภายหลังก็ขยายไปยังเมืองอื่นๆ) นอกจากเหตุผลดังกล่าว ยังถือเป็นการพยายามรวมศูนย์การเงินและเศรษฐกิจไว้ที่อาณาจักรอาณาจักรอิสลามโดยไม่ต้องพึ่งพาอาณาจักรเพื่อนบ้านอย่างโรมันไบแซนไทน์อีกต่อไป...(ส่วนเปอร์เซียล่มสลายและถูกผนวกเข้ามาเรียบร้อยแล้ว...)
บนเหรียญยุคแรก ปราศจากรูปบุคคลดังที่เคยปรากฏบนเหรียญเปอร์เซียและโรมันไบแซนไทน์ (เนื่องจากภาพบุคคลหรือสัตว์ต่างๆนั้นเป็นที่ต้องห้ามตามหลักการ) มีการพิมพ์อักขระอาหรับ (อักษรกูฟีย์) ลงบนเหรียญทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ว่า قل هو الله احد "กุลฮุวัลลอฮุอะฮัด" (จงกล่าว อัลลอฮ์คือผู้ทรงเอกะ) หรือ บางครั้งก็มาทั้งบท (ซูเราะฮ์อัลอิคลาส - บทที่ 112 ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน) อีกด้านหนึ่งจารึกว่า لا إله إلا الله وحده لا شريك له "ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์วะฮ์ดาฮูลาชะรีกะละฮ์" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และไม่มีการตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์) บ้างก็มีพิมพ์ชื่อแหล่งผลิต หรือชื่อของคอลีฟะฮ์ในช่วงนั้นๆ ปรากฏอยู่ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ละรุ่นที่ถูกผลิตออกมาแต่ละสมัย..รวมถึงมีการกำหนดสกุลเงินดินาร (เหรียญทอง) มีน้ำหนัก 4.25 กรัม และดิรฮัม (เหรียญเงิน) มีน้ำหนัก 2.97 กรัม ใช้ทั่วอาณาจักรอิสลามในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์
นี่จึงนับเป็นครั้งแรกที่มุสลิมมีเหรียญกษาปณ์เป็นของตนเอง และเป็นก้าวแรกของการผลิตและพัฒนาเหรียญกษาปณ์ในโลกมุสลิมในยุคต่อๆมา...
อ้างอิง : David F. Fanning, Coinage from the Dawn of Islam, Numismatist, Vol. 125, No. 10 (October 2012), pp. 49-54
The Birth of Islamic Coinage - The Orthodox and Umayyad Caliphate By: Sameer Kazmi, The Journal of Ancient Numismatics, Volume 4, Issue 1
จากรูป :
(บนซ้าย) เหรียญเงินอาหรับ - ซาสซาเนี่ยน (Arab-Sasanian) มีรูปหน้าจักรพรรดิ Yazdegerd III กับอักขระอักษรอาหรับว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮ์" ดูที่ขอบล่าง
(บนขวา) เหรียญทองอาหรับ -ไบแซนไทน์ (Arab-Byzantine) ภาพคนบนเหรียญกล่าวว่าคือ คอลีฟะฮ์อับดุลมาลิก อิบนุ มัรวาน (ดัดแปลงจากรูปจักรพรรดิโรมัน)
(ล่าง) เหรียญดิรฮัม ในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์
ที่มา : โบราณคดีอิสลาม
Share on Google Plus

About บริการทำเว็บไซส์ blogspot สายblogger influencer สายท่องเที่ยว อาหารของกิน บิวตี้ความงาม สร้างด้วยblogspot suraphan x2