วิธีอ่านฉลากโภชนาการสำหรับอาหารไทย
ถ้าเรียงตามฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ สามารถแยกแยะตามหัวข้อโภชนาการหลัก ๆ ได้ดังนี้
1. หนึ่งหน่วยบริโภค
บอกให้เราทราบว่าผู้ผลิตแนะนำให้เรากินอาหารชนิดนั้นต่อครั้งในปริมาณเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น นม 1 กล่อง บรรจุ 220 มิลลิลิตร หากบนฉลากระบุไว้ว่า "หนึ่งหน่วยบริโภค : 1 กล่อง (220 มล.)" ก็หมายความว่า นมกล่องนั้นควรกินให้หมดภายในครั้งเดียว แต่หากเป็นนมขวดใหญ่ ขนาดบรรจุ 1,000 มล. ฉลากโภชนาการอาจระบุไว้ว่า "หนึ่งหน่วยบริโภค: 200 มล." แปลได้ว่า เราสามารถแบ่งกินนมขวดนั้นได้ถึง 5 ครั้ง
2. คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
ช่องถัดมาเราจะเจอข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ที่จะบอกเราว่า หากเรากินอาหารชนิดนั้นตามหนึ่งหน่วยบริโภคที่ระบุไว้ เราจะได้รับคุณค่าทางสารอาหารจากชนิดใด ในปริมาณเท่าไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไปเชื่อมโยงกับร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันในช่องถัดไปค่ะ
3. ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
เมื่อระบุไว้แล้วว่าคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคนั้นเราจะได้รับสารอาหารชนิดใด ในปริมาณเท่าไร ต่อมาผู้ผลิตจะแจกแจงข้อมูลให้เรารู้อีกว่า คุณค่าทางโภชนาการที่อาหารชนิดนี้ให้เราจะคิดเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันได้เท่าไร ยกตัวอย่างเช่น หากฉลากระบุไว้ว่าหนึ่งหน่วยบริโภคของอาหารนี้ให้ปริมาณไขมันคิดเป็น 15% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน แสดงว่ากินอาหารชนิดนี้แล้วได้ไขมันเพียงแค่ 15% ส่วนไขมันอีก 85% ที่เหลือเราต้องไปรับเอาจากอาหารชนิดอื่น ๆ แทน
อย่างไรก็ดี คุณอาจจะสังเกตเห็นได้ว่า สารอาหารบางประเภท เช่น น้ำตาล ใยอาหาร โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ อาจจะบอกเพียงปริมาณต่อหน่วยบริโภค หรือเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกปริมาณกรัม หรือมิลลิกรัมที่ควรได้รับให้เห็นชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่า สารอาหารเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากมีหลายชนิดแถมยังมีคุณภาพแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันที่ชัดเจนได้ ส่วนน้ำตาลถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ระบุในส่วนของคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในฉลากยังมีข้อความระบุต่อด้วยว่า * ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี
4. ความต้องการพลังงานของแต่ละบุคคล
ส่วนสุดท้ายจะเป็นการให้ข้อมูลเรื่องความต้องการพลังงานของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเขียนเหมือนกันทุกผลิตภัณฑ์ ว่า
ความต้องการพลังงานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ควรได้รับสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 ก.
ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 ก.
คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มก.
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 300 ก.
ใยอาหาร 25 ก.
โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มก.
ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 ก.
คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มก.
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 300 ก.
ใยอาหาร 25 ก.
โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มก.
พลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อกรัม : ไขมัน = 9 ; โปรตีน = 4 ; คาร์โบไฮเดรต = 4
กินอย่างไรให้ได้สุขภาพ ดูได้จากฉลากโภชนาการ
แม้ว่าฉลากจะบอกเพียงสารอาหารทั้งหมดที่แฝงอยู่ในอาหารชนิดนั้น ๆ หรืออาจจะมีคำเตือนเล็ก ๆ ให้กินแต่น้อย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่เพื่อสุขภาพและรูปร่างที่ดี พร้อมกับเลี่ยงโรคร้ายไปด้วยในตัว เราก็ควรพิจารณาความเหมาะสมในการบริโภค โดยเช็กจากข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนฉลากตามนี้ค่ะ
1. เช็กพลังงานที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
2. เช็กว่าหนึ่งหน่วยบริโภคให้ปริมาณไขมัน และไขมันอิ่มตัวเท่าไร หากไขมันอิ่มตัวเกิน 20 กรัมต่อวัน ควรหลีกเลี่ยงนะคะ เพราะไขมันอิ่มตัวมีปริมาณเกินมาตราฐานที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน และอาจส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูง เป็นตัวการพาโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคร้ายต่าง ๆ มาให้เราด้วย
3. เช็กปริมาณน้ำตาล หากเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ถือว่าเกินขีดจำกัดของร่างกาย อาจเป็นสาเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และโรคร้ายอีกสารพัด ดังนั้นเลี่ยงเถอะค่ะ
4. เช็กปริมาณโซเดียม เลือกกินอาหารที่ให้โซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม เพื่อเลี่ยงโรคไต และโรคความดันโลหิตสูง
วิธีอ่านฉลากโภชนาการสำหรับอาหารต่างประเทศ
เคยสังเกตไหมคะว่า ฉลากอาหารต่างประเทศเขาจะมีรายละเอียดที่มากกว่าฉลากอาหารไทยอยู่นิดหน่อย ซึ่งหลายคนเจอเข้าก็ถึงกับงง แต่ต่อไปนี้จะเลิกมึนกันได้แล้ว เพราะนี่คือวิธีอ่านฉลากอาหารนำเข้า หรือฉลากอาหารที่เต็มไปด้วยข้อมูลภาษาอังกฤษ ที่เว็บไซต์ทางการของ สำนักงานอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำวิธีอ่านมา ซึ่งเขาแยกฉลากออกเป็น 6 ส่วนย่อย ๆ ตามนี้ค่ะ
1. หนึ่งหน่วยบริโภค
ส่วนนี้บอกข้อมูลเหมือนฉลากโภชนาการอาหารของบ้านเรา ที่ระบุปริมาณที่ควรกินต่อครั้ง แต่อาหารบางชนิดอาจระบุมาด้วยว่า ควรแบ่งกินกี่คน หรือกี่ครั้งใน 1 แพคนั้น
2. ปริมาณแคลอรี่
ฉลากส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลที่ระบุชัดเจนถึงจำนวนแคลอรี่ที่เราจะได้รับต่อการกินอาหารชนิดนี้ในหนึ่งหน่วยบริโภค พ่วงด้วยปริมาณไขมันอิ่มตัวที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคด้วยค่ะ
3. ร้อยละของสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน
ในส่วนนี้ของฉลากก็คล้ายคลึงกับฉลากของบ้านเรา ที่จะนำคุณค่าทางโภชนาการของอาหารชนิดนี้มาคิดเป็นร้อยละของสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน เพียงแต่อาจจะมีชนิดของไขมันทรานส์ระบุเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งอย่าง เนื่องจากเป็นกฎหมายของทางกรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารต้องชี้แจงปริมาณไขมันทรานส์ของอาหารให้ประชาชนได้รู้อย่างชัดเจน เพราะความกังวลในเรื่องของสุขภาพของชาวอเมริกันที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเองค่ะ
4. ปริมาณสารอาหารสำคัญที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
ฉลากส่วนที่ 4 จะเป็นข้อมูลที่บอกว่า อาหารชนิดนี้ให้สารอาหารสำคัญที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน เช่น เกลือแร่ ใยอาหาร วิตามินต่าง ๆ เหล็ก และแคลเซียมคิดเป็นร้อยละเท่าไร โดยหากอาหารที่เรากินให้ปริมาณสารอาหารสำคัญได้เพียงเล็กน้อย เราก็ต้องรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายจากอาหารชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก
5. ร้อยละปริมาณสารอาหารที่ควรบริโภคต่อวัน เปรียบเทียบกับความต้องการมาตรฐาน
ส่วนที่ 5 ร้อยละปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยคิดจากความต้องการพลังงาน 2,000-2,500 กิโลแคลอรี่ แบ่งตามเพศหญิง และเพศชาย ซึ่งจะระบุข้อมูลเอาไว้ว่า อาหารชนิดนี้จะให้สารอาหารคิดเป็นพลังงานได้กี่กิโลแคลอรี่ แต่ทั้งนี้อาจจะต้องดูตามความเหมาะสมของสภาวะโภชนาการของตัวเราเองด้วยนะคะ เพราะอาจจะต้องเพิ่ม หรือลดหลั่นกันไปในแต่ละบุคคล
6. สรุปร้อยละคุณค่าทางโภชนาการที่ควรได้รับต่อวัน
ในส่วนสุดท้ายของฉลากจะสรุปข้อมูลที่คิดเป็นร้อยละของคุณค่าทางโภชนาการที่ควรได้รับต่อวันว่า อาหารชนิดนี้สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการกับคุณได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งหากต่ำกว่า 5% ก็ถือว่าเป็นอัตราคุณค่าทางโภชนาการที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากให้คุณค่าทางโภชนาการเกิน 20% ขึ้นไป ก็จัดว่าให้คุณค่าทางโภชนาการในระดับที่สูง
อย่างไรก็ดี การอ่านฉลากโภชนาการให้เป็นก็ทำให้เราได้รู้รายละเอียดของอาหาร รวมทั้งสามารถตีความได้ว่าภายใต้แพคเกจสวย ๆ หน้าตาอาหารดี ๆ นั้นซ่อนสิ่งใดไว้บ้าง ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เปรียบของการมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัยอีกหลายชนิด นอกจากนี้การอ่านฉลากโภชนาการให้เป็นยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแคลอรี่สูงสามารถระมัดระวังเรื่องอาหารการกินของตัวเองได้อย่างแม่นยำขึ้นด้วยนะคะ
ที่มา : Life health