เปิดร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณสู้ “โควิด-19”กองทุนบัตรทอง -กระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดงบ



เปิดร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณสู้ “โควิด-19” 
 กองทุนบัตรทองถูกตัดงบ 2,400 ล้าน   กระทรวงสาธารณสุขโดนด้วย 1,200 ล้าน
.
.
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ... ซึ่งจะเป็นสาระสำคัญ ในการโอนงบประมาณของแต่ละกระทรวง รวมมูลค่าแล้วกว่า 100,395 ล้านบาท เข้าไปอยู่ใน “งบกลาง” เพื่อสำรองจ่ายในกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน ในการช่วยเหลือ เยียวยา ผลกระทบจากโควิด – 19 ต่อประชาชน
.
แน่นอน เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะหลังจากนี้อีก 1 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม ภาคธุรกิจ ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว จะไม่สามารถเดินหน้าได้ตามปกติ GDP ไทย จากที่ปีที่แล้วโตต่ำอยู่แล้วที่ 2.4% ปี 2563 มีการประเมินว่าจะติดลบ 5-7% เพราะ “เครื่องยนต์” หลักอย่างการท่องเที่ยวนิ่งสนิท
.
เมื่อหาแหล่งรายได้อื่น หาเงินเข้าประเทศไม่ได้ และปีนี้ จะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าอย่างไม่ต้องสงสัย ก็ต้องนำมาซึ่งการโอนงบประมาณ กลับมาไว้ที่ นายกฯ เพื่อให้เบิกจ่ายง่าย และคล่องที่สุด เป็นส่วนเสริมของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่าน ครม.ไปก่อนหน้านี้
.
แน่นอน อำนาจจัดซื้อ – จัดจ้าง ของรัฐมนตรี ก็จะหายไป และหลายกระทรวง อาจต้องอยู่กันอย่าง “อดอยากปากแห้ง” ในอีก 1 ปีข้างหน้า บางกระทรวงที่รัฐมนตรีหวังจะโยกเงิน ไปจ่ายค่า “งูเห่า” หรือไปจ่ายเงินทำพรรค ก็อาจได้รับผลกระทบ..
.
สำหรับงบประมาณที่โดนตัดเยอะที่สุด อยู่ที่กระทรวงกลาโหม หายไป 1.8 หมื่นล้านบาท หนึ่งในนั้นก็คือ “รถหุ้มเกราะล้อยาง” สไตรเกอร์ ที่สั่งจากสหรัฐอเมริกา วงเงิน 4,515 ล้านบาท หรือ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ ของกองทัพเรือนั้น งบจะหายไปราว 4,130 ล้านบาท ทำให้การจัดซื้ออาวุธที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง หายไป ไม่เหมือนเดิมและงบที่ใช้ในการ “ดูงานต่างประเทศ” การจัดซื้อจัดจ้างหลายอย่างที่ไม่จำเป็น ก็จะหายไปเช่นกัน
.
ปัญหาก็คือ หากเป็นงบประมาณที่ไม่จำเป็นจริง ก็พอทำเนา แต่สำนักงบประมาณ ตัดไปตัดมา กลับไปตัดเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกองทุนบัตรทอง ปี 2563 ด้วย โดยที่แม้แต่ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ไม่รู้เรื่อง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานหลักที่รับเงินจากกองทุนก็ไม่รู้เรื่อง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่รู้เรื่อง
.
โดยปกติ การ “โอนกลับ” มักจะมีรายละเอียดว่าจะโอนงบประมาณส่วนไหน โครงการอะไร แต่ในส่วนของงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพนั้นใช้วิธีเทียบบัญญัติไตรยางค์เอาโต้งๆ ว่าจะตัดจากงบกองทุนบัตรทอง 1.25% จนเคาะมาได้ที่ตัวเลข 2,400 ล้านบาท
.
ทีนี้คนในสปสช. ในบอร์ดสปสช. และในกระทรวงสาธารณสุข ก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก เพราะเงินในกองทุนบัตรทองนั้น ไม่ใช่งบสำหรับบริหารสปสช.เพียงอย่างเดียว แต่คืองบประมาณค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนไทยที่อยู่ภายใต้ระบบบัตรทองมากกว่า 49 ล้านคน ซึ่งปัจจุบัน งบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ราว 3,600 บาท ต่อคนต่อปี
.
และในที่นี้ ก็รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคค่าใช้จ่ายสูงราคาแพง การรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ฯลฯ หรือแม้แต่กรณีป่วยด้วยโรคโควิด – 19 กรณีการจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อต่อสู้กับโควิด การระดมตรวจโรคเชิงลึก ก็สามารถเบิกจากกองทุนบัตรทองได้
.
เพราะฉะนั้น เงินที่ลงไปยังโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะหายไปทันทีกว่า 2,400 ล้านบาท เพื่อกันไปเป็นงบฉุกเฉินส่วนอื่น ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะเอาไปใช้อย่างไร เยียวยาอย่างไร ขอเพียงกันไว้เป็นงบกลางไว้ก่อน
.
ไม่ใช่เพียงกองทุนบัตรทองอย่างเดียว ที่ถูกโอนคืน กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงาน “แนวหน้า” ในการจัดการก็โดนด้วย 1,200 ล้านบาท
.

ที่โดนหนักสุด คือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปีงบประมาณนี้ เงินจะหายไปมากกว่า 895 ล้านบาท โดยไปกองอยู่ใน “แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี” กว่า 707 ล้านบาท
.
หากตัดเฉพาะงบประมาณการไปราชการต่างประเทศก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่ส่วนใหญ่ งบของสำนักงานปลัดฯ ที่ถูกตัดออก กลับไปกองอยู่ที่งบการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาล อาคารผู้ป่วยนอก - ผู้ป่วยใน ไปจนถึงอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งน่าแปลกใจที่สำนักงบประมาณ เห็นว่า “ไม่มีความจำเป็น”
.
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ที่หวังกันว่าปีงบประมาณ 2563 จะมีการปรับปรุง “บ้านพัก” แพทย์ - พยาบาล และข้าราชการนั้น ขอให้สบายใจได้เลยว่าไม่ได้ปรับปรุงแน่นอน เพราะงบส่วนสร้างและปรับปรุงอาคารบ้านพักของหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศนั้น ถูกโยกไปเป็นงบกลาง ภายใต้นายกฯ ประยุทธ์ เรียบร้อยเช่นกัน
.
เมื่อโยกไปแล้ว การจะของบกลางกลับมาใช้ในหน่วยงานให้เหมือนเดิม โดยอ้างความ “จำเป็น” นั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ายากแค่ไหน
.
การตัดงบประมาณช่วงการต่อสู้กับโรคระบาด ทั้งของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และของกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นข้อเสนอที่แปลกประหลาด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมาจากการเสนอของหน่วยงานอย่างสำนักงบประมาณ และก็ไม่น่าเชื่อว่าคณะรัฐมนตรี จะ “เห็นชอบ” โดยไม่มีการทักท้วงถึงไส้ในเลย
.
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของระบอบประชาธิปไตยก็คือ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ จะยังคงมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จะต้องผ่านการพิจารณาของสส. - สว. และยังปรับแก้ในรายละเอียดได้หลังจากนี้
.
ว่ากันว่างบประมาณในช่วง “ภัยพิบัติ” ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นงบส่วนที่ “ชุบมือเปิบ” ง่ายที่สุด และหอมหวานที่สุด เพราะการตรวจสอบจะไม่เข้มข้นมากนัก เพราะเหตุเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน
.
หากตอบคำถามไม่ได้ว่างบประมาณที่หายไป จะนำไปใช้อะไร และปรับลดโดยไม่มีสาเหตุจนกระทบกับการรักษาพยาบาล กระทบกับทีมแพทย์ - พยาบาล ที่อยู่แนวหน้า จนต้องทำหน้าที่กันอย่างยากลำบากนั้น
.
cr:Gossipสาสุข...
Share on Google Plus

About บริการทำเว็บไซส์ blogspot สายblogger influencer สายท่องเที่ยว อาหารของกิน บิวตี้ความงาม สร้างด้วยblogspot suraphan x2

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น