บทเรียนกองทุนฟื้นฟู หรือ กองทุนหุ้นกู้จะเดินซ้ำรอย


ผมตั้งชื่อบทความไว้แบบนี้ เพราะประเทศเราเคยมีบทเรียนจากผลงานของรัฐและธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้ว

ในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง คนที่เกิดทันในยุคนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"

ที่จริงกองทุนนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลของ พล.อ.เปรม เมื่อ พ.ศ.2528โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา

คือ พูดง่ายๆภาษาบ้านๆก็คือ ตั้งมาเพื่ออุ้มธนาคารนั่นแหละ

ส่วนสาเหตุการตั้งถ้าจำไม่ผิดน่าจะมาจากปีก่อนหน้าธนาคารกรุงเทพประสบปัญหา และมีข่าวลือจนคนแห่ไปถอนเงินสดออกจากธนาคาร จนพลเอกเปรมต้องได้มาแก้ปัญหาให้

ชาวบ้านแห่ไปถอนเงิน แต่พล.อ.เปรมไปฝากเงินและเป็นข่าวออกไปทั่วประเทศ ความเชื่อมั่นจึงกลับมา และพล.อ.เปรมก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาธนาคารในภายหลัง

อันนี้เล่าจากความจำข้อมูลอาจจะไม่เป๊ะทั้งหมด

แต่ที่แน่ๆเป๊ะๆคือ กองทุนฟื้นฟูตั้งในปี 2528 เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

กองทุนฟื้นฟูมามีบทบาทเป็นอย่างมากในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง

โดยกองทุนฟื้นฟูเข้าไปมีบทบาททั้งไปถือหุ้นสถาบันการเงิน ถือหุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้าไปบริหารทรัพย์สิน ต้องดูแลสถาบันการเงินที่มีปัญหานับร้อยแห่ง จนสุดท้ายกองทุนฟื้นฟูต้องรับภาระในการหาเงินเพื่อมาอุ้มให้สถาบันการเงินอยู่ได้ ด้วยเหตุผลว่า ไม่ต้องให้ระบบการเงินการธนาคารล่ม

สุดท้ายเกิดความเสียหายจนต้องแบกหนี้ถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ถ้านึกไม่ออกว่าเงินจำนวนนี้มากมายขนาดไหนก็ให้นึกถึงว่า งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในสมัยนั้นอยู่ราวๆ 6 แสนกว่าล้าน

หนี้กองทุนฟื้นฟูมีมากกว่า งบประมาณของรัฐกว่า 2 ปี

ในยุคนั้นราคาทองคำประมาณบาทละ 5,500 บาท ถ้าเทียบกับปัจจุบัน เงินก้อนนั้นก็คือราวๆ 7 ล้านล้านบาท

หนี้จำนวนมหาศาลนี้ รัฐบาลในยุคนั้นได้ออกกฎหมายให้กระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฯ โดยไปออกพันธบัตรรัฐบาลเอาเงินมาอุดหนุน โดยให้กระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย และ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ใช้เงินต้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมีกำไร

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ภารกิจหลักคือ ดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน พูดง่ายๆว่า ไม่รู้จะใช้หนี้ชาติไหนถึงจะหมดนั่นแหละ

ผลก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็เป็นภาระใช้หนี้เรื่อยมา เงินที่เอามาใช้หนี้ ใช้ดอกเบี้ยจะมาจากไหนได้ ถ้าไม่ใช่ภาษีประชาชน

เห็นว่าดอกเบี้ยปีหนึ่งๆก็ราวๆปีละกว่าสามหมื่นล้าน ใช้เวลาใช้หนี้ไป 15 ปี ใช้เงินต้นไปแค่ 3แสนกว่าล้าน จนถึงวันที่ 27 มกราคม 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงสามารถผลักหนี้ทั้งหมดที่เหลือเป็นเงินต้นอยู่ทั้งสิ้น 1.138 ล้านล้านบาทให้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยตั้งเงื่อนไขว่า

1.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานแบ่งมาใช้หนี้

2.ให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารร้อยละ 0.46 ต่อปี จากยอดเงินฝากของธนาคารที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากจากกองทุนคุ้มครองเงินฝาก พูดง่ายว่า ให้เอาค่าธรรมเนียมคุ้มครองเงินฝากมาชำระหนี้

ซึ่งการทำแบบนี้คาดว่า จะใช้เวลาอีก 25 ปีถึงจะใช้หนี้หมดทั้งต้นทั้งดอก

ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นผลงานหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ช่วยปลดภาระดอกเบี้ยอุ้มธนาคารออกจากบ่าของประชาชนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมายาวนานถึง 15 ปี

ให้เงินอุ้มธนาคารไปเป็นภาระของธนาคารนับแต่นั้น

ข้อมูลที่ผมมีล่าสุดเมื่อ ปี 2556 หนี้ก้อนนี้ยังเหลืออยู่ที่ 1.107 ล้านล้านบาท

จากวันนั้นถึงวันนี้กว่ายี่สิบปีแล้ว หนี้ก้อนนี้ก็ยังไม่หมด คนที่มีส่วนร่วมในการอุ้มธนาคารในวันนั้น บางคนวันนี้ก็ตายแล้ว แต่หนี้สินก้อนนี้ยังเป็นภาระอยู่ในระบบ วันใดที่กองทุนไปไม่ไหวบริหารไปไม่ได้ สุดท้ายภาระก็จะมาตกกับรัฐบาล เป็นภาระของรัฐบาลเมื่อไหร่ก็คือเป็นภาระของภาษีประชาชน

การออก พรก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้นกู้เอกชน ก็ไม่ต่างจากการตั้งกองทุนฟื้นฟู แต่กองทุนหุ้นกู้จะไม่ใช่การอุ้มธนาคาร แต่จะเป็นการไปอุ้มบริษัทเอกชน โดยการไปซื้อหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทเอกชน เพื่อให้บริษัทเอกชนนำเงินที่ขายหุ้นกู้ใหม่ได้ ไปจ่ายหนี้คืนหุ้นกู้เก่า

ซึ่งความเสี่ยงที่จะเสียหายมีอยู่สูงกว่าการอุ้มธนาคารอีก เพราะถ้าบริษัทไม่มีความเสี่ยง มีความสามารถในการชำระหนี้ ก็คงไม่ได้มาอาศัยธนาคารแห่งประเทศไทยไปอุ้มซื้อหุ้นกู้ใหม่ไปใช้หนี้เก่าแบบนี้

และหากเกิดความเสียหายขึ้นมาสุดท้ายคนที่ต้องรับภาระก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย คือรัฐ ซึ่งสุดท้ายก็คือประชาชน

โดยเหตุผลหลักของการอุ้มก็คือ เพื่อรักษาระบบหุ้นกู้เอกชนนี้ไว้

ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรด้วยเลย

มีเพียงบริษัทใหญ่ไม่กี่เจ้า และ ผู้ซื้อหุ้นกู้จำนวนหนึ่งที่มีผลประโยชน์กันแค่สองฝ่ายเท่านั้น

แต่ได้รับวงเงินไปถึง 4 แสนล้านบาทอย่างง่ายๆ

ในขณะที่เงินจะเอามาเยียวยาชาวบ้าน 5,000 บาทเพื่อกันตาย กลับเต็มไปด้วยเงื่อนไข ทั้งขู่แล้วขู่อีก โดยที่ไม่มองว่า ในยามนี้มีประชาชนซักกี่คนที่ไม่เดือดร้อน แถมมาจำกัดจำนวนคนที่จะเยียวยา โดยที่ไม่รู้เอาอะไรมาวัดว่าใครเดือดร้อนไม่เดือดร้อน

เงิน 4 แสนล้านนี้หากเสียหายจนเป็นภาระเหมือนกองทุนฟื้นฟู สุดท้ายก็จะมาเป็นภาระประชาชน แบบเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอให้ชาวบ้าน

แถมกว่าจะใช้หนี้หมด ตอนนั้นประยุทธ์คนที่อนุมัติให้ทำ ก็อาจลอยอังคารไปแล้ว ไม่ได้อยู่รับผิดชอบ คนที่ต้องรับผิดชดใช้ก็คือลูกหลานพวกเรานี่เอง





ศูนย์การค้าใหญ่ริมน้ำเจ้าพระยาที่มีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเองวิ่งเข้าไปส่งถึงห้าง ตอนลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตรงนั้นให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ บริษัทอสังริมทรัพย์ใหญ่ที่ร่วมหุ้นในศูนย์การค้านี้ ออกหุ้นกู้มาเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แปลงใหญ่นี้

และเมื่อเปิดศูนย์การค้ามาถึงตอนนี้ สถานะของกิจการที่ดำเนินอยู่ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ มันเจ๊ง! รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งมาเจอพิษโควิดซ้ำเข้าไปอีก ที่แย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก

หุ้นกู้ที่ออกมาเพื่อระดมเงินทุน มาพัฒนาที่ดินแปลงสวยริมน้ำแปลงนี้ ข่าวว่าใกล้จะถึงกำหนดที่จะต้องชำระหนี้หุ้นกู้เก่า แต่ด้วยผลประกอบการและสถานการณ์ในตอนนี้ การจะหาเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ก็เป็นเรื่องลำบาก ครั้นจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อระดมทุนก้อนใหม่มาชำระหนี้เก่า ตอนนี้มันก็หาคนซื้อไม่ได้ มีแต่คนจะเอาตราสารที่ถืออยู่มาขาย

แจ๊กพ็อตไม่รู้จะมาออกที่กองทุนหุ้นกู้ 4 แสนล้านของ ธปท.หรือไม่ ต้องช่วยกันคอยดู เพราะถ้ากองทุนหุ้นกู้ของ ธปท.ไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทไหน ก็ต้องจะเป็นข่าวมาให้สังคมรับรู้

แล้วเราจะได้เห็นกัน ว่า กองทุนหุ้นกู้นี้จะไปอุ้มไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทไหนบ้าง

และขอทายไว้ล่วงหน้าว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ผมพูดถึง จะมีหุ้นกู้มาให้กองทุนของ ธปท.ได้ซื้อแน่ๆ

เรื่องทำนองนี้เพจผมมักจะทายแม่น ผมทายไม่แม่นเฉพาะหวยนี่แหละ ไม่งั้นรวยไปนานแล้ว



บันทึกไว้เป็นข้อมูลว่า มีหุ้นกู้บริษัทใหญ่ที่จะถึงกำหนดในปีนี้ มีทั้งสิ้น 622,000ล้านบาท โดยแยกเป็นรายเดือนดังนี้

เดือนเมษายน

หุ้นกู้ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) 25,000 ล้านบาท
หุ้นกู้ CPF 6,500 ล้านบาท
หุ้นกู้ ทรู มูฟ เอชฯ(TUC) 9,000 ล้านบาท

เดือนมิถุนายน

หุ้นกู้เบอร์ลี่ ยุคเกอร์(BJC) 17,920 ล้านบาท
หุ้นกู้ CP all 1,500 ล้านบาท

เดือน กรกฎาคมและสิงหาคม

หุ้นกู้บริษัท TRUE 7,000 ล้านบาท
หุ้นกู้ ทรู มูฟ เอชฯ(TUC) 8,800 ล้านบาท

เดือนตุลาคม

หุ้นกู้ CP ALL 10,790 ล้านบาท
หุ้นกู้ CPF 6,700 ล้านบาท
หุ้นกู้แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH) 6,000 ล้านบาท

ที่คัดมาให้ดูเป็นหุ้นกู้บริษัทใหญ่ของทุนใหญ่ที่จะครบกำหนดในปีนี้ และ คาดว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่มาชำระหนี้หุ้นกู้เก่า

เงินกองทุนหุ้นกู้ที่รัฐบาลประยุทธ์ออก พรก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปซื้อหุ้นกู้เอกชนจำนวน 4 แสนล้าน ก็คงไม่พ้นเอาไปอุ้มซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเหล่านี้ด้วย

แต่จะอุ้มซื้อหุ้นกู้ใครจำนวนเท่าไหร่ก็ต้องคอยดูกันไป

แต่ที่สังเกตก็คือ เวลารัฐบาลอุ้มทุนใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ราย มันทำง่ายดาย ไม่มีเงื่อนไขหยุมหยิม

และหุ้นกู้พวกนี้ได้ประโยชน์ก็สมประโยชน์กันอยู่สองคนคือ คนออกหุ้นกู้ กับ คนซื้อ

หุ้นกู้บางบริษัทซื้อยากซื้อเย็น คนทั่วไปอยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ต้องให้ผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นกู้ก่อน

แต่พอเจอวิกฤติ หุ้นกู้ใหม่ขายไม่ออกไม่มีเงินมาจ่ายหนี้หุ้นกู้เก่า กลับต้องให้คนทั้งสังคมมาอุ้มด้วยข้ออ้างว่า เพื่อรักษาระบบ ถ้าระบบล้มจะทำให้ระบบอื่นล้มไปด้วย

เหตุผลที่จะต้องรักษาระบบพอฟังได้ แต่ทำไมต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่อุ้มรับความเสี่ยงผ่านธนาคารกลาง ในเมื่อธนาคารพาณิชย์ก็มี และถ้าเกิดบริษัทเหล่านี้มีปัญหาจนเกิดความเสียหายกับกองทุนหุ้นกู้ ความรับผิดชอบก็ไม่พ้นมาตกกับประชาชนแบบกองทุนฟื้นฟูในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ยาวนานถึง 15 ปี

นี่ไม่นับเวลาช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศแบบเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่มีคนลงทะเบียนเกือบ 25 ล้านคน ที่มีเงื่อนไขยุบยับ แถมขู่ประชาชนเจ้าของเงินสารพัด

เมื่อเทียบสัดส่วนเงินที่ช่วยเหลือ เทียบสัดส่วนจำนวนคน ไปเทียบกับจำนวนทุนใหญ่

ไม่ต้องบอกเราก็น่าจะรู้ว่า รัฐบาลประยุทธ์อุ้มใครในตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลอ้างอิง​ https://bit.ly/2yWHvHZ


บทความจากคุณ ถือแถน ประสพโชค




เพจลงทุนแมนเขาสรุปมูลค่าหุ้นกู้ที่อยู่ในมือของเจ้าสัวใหญ่แค่ 2 เจ้าไว้

เฉพาะเจ้าสัวรายแรกในภาพก็มีหุ้นกู้ที่ออกตราสารมาระดมเงินเกือบ 5 แสนล้าน

ส่วนอีกรายก็เกือบ 4 แสนล้าน

สองเจ้าสัวนี้ก็ออกหุ้นกู้เป็นตัวเลขกลมๆราว 1 ล้านล้านบาท

ถ้า ธปท.ตั้งกองทุนอุ้มหุ้นกู้ขึ้นมา คาดว่าเงินที่จะไปซื้อหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาใช้หนี้หุ้นกู้เก่า มันจะไหลไปไหน

ส่วนในภาพเขาแสดงให้เห็นดอกเบี้ยที่หุ้นกู้แต่ละกลุ่มให้กับผู้ซื้อหุ้นกู้ ซึ่งผมเคยบอกว่า สมประโยชน์กันอยู่แค่สองคน

คนออกหุ้นกู้กู้เงิน ก็ได้เงินทุนราคาถูกกว่าดอกเบี้ยธนาคาร มีเงินทุนที่ต้นทุนราคาต่ำกว่าชาวบ้านมาลงทุน มีความได้เปรียบเพิ่มขึ้นจากที่เดิมก็ได้เปรียบอยู่แล้ว

ส่วนคนซื้อก็ได้ดอกเบี้ยมากกว่าเอาเงินไปฝากธนาคาร อย่างน้อยก็ร้อยละ 3-4 บาท เพราะดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารตอนนี้ก็เห็นๆกันอยู่ว่าต่ำ

คำถามว่า คนขายหุ้นกู้กับคนซื้อหุ้นกู้ มีจำนวนเท่าไหร่ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับคนทั้งประเทศ

และทำไมต้องเอาข้ออ้างว่า คนกลุ่มนี้ล้มจะพาคนทั้งประเทศล้มไปด้วย

ถ้าไม่ให้องค์กรพิเศษแบบกองทุนหุ้นกู้ที่เป็นองค์กรของรัฐมาอุ้ม ซึ่งเท่ากับประชาชนอุ้ม มันมีหนทางอื่นไหม อย่างเขาไปให้ธนาคารพาณิชย์มาซื้อมาถือหุ้น ให้บริษัท กับผู้ถือหุ้นกู้รับความเสี่ยง และรับผิดชอบกับธนาคารไป ทำไมต้องให้ประชาชนเป็นคนอุ้ม

และประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์อะไรกับคนสองกลุ่มนี้

แล้วถ้าท่านเดือดร้อนจะเป็นจะตายกับการจำนำข้าว กับการอุ้มชาวนา ซึ่งเป็นคนจำนวนมากกว่าครึ่งของประเทศ

ท่านไม่รู้สึกกับการเอาเงินจำนวนมาก ในวงเงินใกล้เคียงกัน ไปอุ้มเจ้าสัว ไปอุ้มคนรวยจำนวนไม่กี่คนหรือ

ทำไมเวลาชาวนา ชาวสวนยางพารา ขายยางไม่ได้ราคา ประยุทธ์ทำไมบอกให้เลิกปลูก ให้ไปทำอย่างอื่น

ทำไมไม่บอกบริษัทพวกนี้บ้างว่า ถ้าไม่ไหวก็เลิก

หรือไม่ก็หาทางอื่นที่ไม่ใช่อุ้มคนรวย แต่ไม่ช่วยคนจน แถมให้คนจนส่วนใหญ่ไปเป็นเตี้ยอุ้มค่อมอีกด้วย

“วิธีลดความเสี่ยงตราสารหนี้”

🇭 รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดให้ ธปท. ซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรง

ถึงแม้ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดูแลตลาดการเงินมิให้ขาดความมั่นใจ

แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับภาระที่อาจจะตกไปเป็นของประชาชน ลูกหลานไทยต้องรับชดใช้หนี้แทนบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่

⚖️ ตามกฎหมาย ธปท. นั้น ธปท. สามารถช่วยให้สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินอยู่แล้ว โดยประกาศตราสารหนี้เอกชน ถือเป็นหลักประกันชั้นดีอย่างหนึ่ง ที่ refinance จาก ธปท. ได้

โดย ธปท. อาจจะ refinance ในสัดส่วนที่สูง เช่น 90% ของราคาตลาด

แม้แต่อัตราดอกเบี้ย ก็อาจจะคิดต่ำเป็นพิเศษช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 0.01% ต่อปี เพื่ออัดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านสถาบันการเงิน ก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุนในกองทุนตราสารหนี้

ธปท. ก็เปิดให้สถาบันการเงินที่เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนตราสารหนี้ สามารถเอามาเป็นหลักประกันได้อีกด้วย โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%

ทั้งหมดนี้สามารถทำได้อยู่แล้วแบบไม่อั้น ตามบทบัญญัติในกฎหมาย ธปท. โดยไม่ต้องขออนุญาตกระทรวงคลัง หรือรัฐบาล

 ถามว่า ถ้าทำได้อยู่แล้ว ทำไมต้องออกเป็นพระราชกำหนด?

 คงจะมี 2 เหตุผล

หนึ่ง เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถชดเชยความเสียหายแก่ ธปท. ได้

ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่หลายคนกังวล กลัวจะกลายเป็นเฉือนเนื้อคนจน ไปให้คนรวย

สอง เปิดให้ ธปท. ซื้อตราสารหนี้จากเอกชนโดยตรง แทนที่จะช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินตามครรลองปกติ

ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่หลายคนกังวลจะกลายเป็นนักการเมืองแทรกแซงเพื่อให้ ธปท. อุ้มบริษัทของพรรคพวก

 ถามว่า ทำไม ธปท. ไม่สามารถใช้ช่องทางปกติตามกฎหมายปัจจุบันได้?

 มีอยู่เหตุผลเดียวคือ สถาบันการเงินไม่ยอมซื้อ

ทั้งที่ขณะนี้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องอยู่ในมือสูงมาก แต่ ธปท. คงประเมินชัดเจนว่า จะไม่ซื้อ

ทั้งนี้ การที่สถาบันการเงินจะซื้อตราสารเอกชนนั้น สถาบันการเงินจะประเมินความอยู่รอดของธุรกิจก่อน โดยวิเคราะห์ business landscape ในอนาคต

 ธุรกิจใดที่ในอดีตบริหารงานแบบบุ่มบ่าม กว้านโครงการเอาไว้ในมือมาก

ถ้าหากใน business landscape หลังวิกฤตโควิด โครงการเดิมมีโอกาสสำเร็จน้อยลง สถาบันการเงินก็อยากจะลดการสนับสนุน

นอกจากนี้ มีประเด็นเรื่องราคา

ในรูปข้างล่าง ตราสารหนี้ที่ออกโดยธุรกิจของสองเจ้าสัวใหญ่ ในอดีตจ่ายดอกเบี้ยต่ำมาก

จึงมีคนสอบถามว่า ถ้าหากธุรกิจระดับใหญ่เช่นนี้ จะช่วยตัวเอง โดยยกระดับดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยง เป็นไปได้หรือไม่?

 ผมตอบว่าอัตราดอกเบี้ยวงเงินกู้ระดับเป็นหมื่นล้านแสนล้านนั้น จะต่ำกว่าอัตราสำหรับลูกหนี้ชั้นดีมาก เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ก็มีประเด็นว่า ถ้าผู้ออกตราสารปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็ย่อมจะจูงใจสถาบันการเงินได้อย่างหนึ่ง

ดังนั้น ถ้า ธปท. เข้าซื้อโดยตรง ก็จะมีคำถามว่า ป้องกันการซื้อในราคาไม่เป็นธรรมได้อย่างไร?

 ดังนั้น ทางเลือกดีที่สุดสำหรับสังคมไทย คือ ธปท. อัดฉีดสภาพคล่องแบบไม่อั้น แต่ทำผ่านสถาบันการเงินตามครรลองปกติ เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ

โดยรัฐบาลสนับสนุนออกกฎหมายเป็นเครื่องมือผ่าตัดฉุกเฉิน ถ้าหากจำเป็น

ส่วนทางเลือกที่ให้ ธปท. เข้าซื้อโดยตรงนั้น

จนถึงบัดนี้ ยังไม่เห็นข้อเสนอและวิธีการ ว่าจะป้องกันการแทรกแซง ได้แท้จริงอย่างไร?

หรือป้องกันการประเมินความเสี่ยงแบบหย่อนยาน เพื่ออุ้มบางบริษัท ได้แท้จริงอย่างไร?

วันที่ 14 เมษายน 2563
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ




Share on Google Plus

About บริการทำเว็บไซส์ blogspot สายblogger influencer สายท่องเที่ยว อาหารของกิน บิวตี้ความงาม สร้างด้วยblogspot suraphan x2

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น