เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐที่มีต่อรพ.รัฐ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อประชาชนที่มารับการรักษาได้ หมอได้อ่านข่าวเองและอ่านสิ่งที่รุ่นพี่แพทย์ที่เคารพเขียนความเห็นต่อเรื่องนี้ โดยรุ่นพี่ทำงานเป็นทั้งแพทย์และดูเรื่องการเงินของรพ.รัฐด้วย เมื่อวิเคราะห์สิ่งที่จะตามมาจากนโยบายนี้ค่อนข้างกังวล T^T
.
จากข่าววันที่ 16 เมษายน 2563 เรื่องรัฐบาลอนุมัติให้มีตำแหน่ง “ข้าราชการใหม่” จำนวน “38,105 ตำแหน่ง” โดยให้โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขจ่ายเงินเดือนจาก “เงินบำรุงและเงินเหลือจ่าย” โดยให้จ่ายไปก่อนจนถึงเดือนกันยายน 2563
.
โรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ขาดทุนกัน เงินบำรุงติดลบ คำถามคือจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้ข้าราชการใหม่?
.
สิ่งที่ตามมาจากนโยบายนี้รายจ่ายของโรงพยาบาลรัฐจะเพิ่มขึ้น ทั้งที่รายรับน้อยมากหรือติดลบ อาจทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่มีเงินมากพอที่จะจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยและไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์
คนที่จะเดือดร้อน คือ ประชาชนที่มารับการรักษา
หมอเลยอยากเล่าให้เข้าใจว่านโยบายนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้นอย่างละเอียด เพื่อที่จะให้ทุกท่านเข้าใจถึงแก่นของปัญหาได้
.
== “ข้าราชการบรรจุ” ==
_ รับเงินเดือนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงานก.พ.) ที่เป็นองค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน
_ แต่ละปี ก.พ.จะปล่อยตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการน้อยมาก บุคลากรทางการแพทย์ต้องการเป็นข้าราชการบรรจุ เพราะจะได้รับสิทธิต่างๆที่พึงได้รับ เช่น สิทธิการรักษา, ความมั่นคงก้าวหน้าในการงาน การที่คนทำงานต้องรอตำแหน่งนี้นาน ทำให้หลายคนท้อใจ ลาออกจากการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐไปทำโรงพยาบาลเอกชนแทน
_ ล่าสุดวันที่ 3 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการบรรจุพนักงาน ลูกจ้าง สาธารณสุข “เป็นข้าราชการ “ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอไป “เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทย อย่างยั่งยืน และ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” จำนวน “45,242 ตำแหน่ง”
.
นโยบายนี้จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก เพราะความคาดหวังของเค้า คือ การที่ได้รับการบรรจุเป็นตำแหน่งข้าราชการ ที่ผ่านมาเกือบทุกโรงพยาบาลทำเรื่องเสนอขอตำแหน่งข้าราชการใหม่จาก สำนักงานก.พ. ตลอด แต่แทบไม่เคยได้เลย
แต่ปัญหาจริงๆที่หลายๆคนในวงการสาธารณสุขกังวล อยู่ที่ข้อถัดไป..
.
== รายได้โรงพยาบาลของรัฐ ==
_ได้มาจากหลายทาง เช่น
เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากส่วนกลาง
เงินบำรุง
เงินเหลือจ่าย
.
@ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากส่วนกลาง
_ เป็นเงินที่รัฐบาลจ่ายให้โรงพยาบาลในแต่ละปี โดยโรงพยาบาลต้องเขียนของบประมาณแต่ละปีให้ส่วนกลางพิจารณาว่าจะให้แต่ละโรงพยาบาลปีนั้นเท่าไร
_ ข้อมูลคือเงินงบประมาณของปี 2563 มีความล่าช้าเพราะรัฐบาลสรุปงบประมาณประเทศล่าช้า “เงินค้างท่อยังไม่อนุมัติ” แปลว่า เงินส่วนหนึ่งที่โรงพยาบาลควรจะได้ยังไม่มาถึงโรงพยาบาล
.
เงินบำรุงโรงพยาบาล
_ เป็นเงินรายได้ของโรงพยาบาล ที่ได้จากการให้บริการรักษาผู้ป่วย เช่น ค่ารักษาคลินิกนอกเวลา, เงินจากสปสช.
_ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำงานของโรงพยาบาล เช่น จ้างลูกจ้าง (ที่ไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้านอื่นๆ คนงาน คนขับรถ ฯลฯ รวมทั้งจ่ายค่าทำงานนอกเวลาราชการของบุคลากรทุกประเภท)
_ ถ้ามีผู้ป่วยมาใช้บริการมากโรงพยาบาลจะเก็บเงินได้มาก กรณีมีเงินบำรุงเหลือจากการใช้จ่ายเหล่านี้ อาจเอาเงินไปสร้างตึก ซื้อเตียง ซื้อเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาล
_ หลังจากมีระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. เงินเดือนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะรวมอยู่ในเงินรายหัวต่อคนต่อปีที่ สปสช.เป็นคนกำหนดเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติ
_ รายได้ของโรงพยาบาลมาจากค่ารักษาผู้ป่วยที่สปสช.จ่ายให้ ซึ่งปัญหาคือบางรพ.เรียกเก็บเงินจาสปสช.ไม่ได้ หรือรพ.ได้รับเงินจาก สปสช. น้อยกว่ารายจ่ายที่ใช้จริงในการรักษาผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลต้องนำเงินบำรุงเก่าที่สะสมไว้ก่อนมีระบบ 30 บาท นำไปใช้จนหมด
** ปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงติดลบไม่มีเงินจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ และบางแห่งไม่มีเงินจ่ายค่ายา (ซื้อเชื่อจากบริษัทยา) ค่าน้ำ/ไฟ/สาธารณูปโภคอื่นๆ **
_ รายได้ของโรงพยาบาลยังมาจากรายได้ผู้ป่วยจากกองทุนประกันสังคม ในระบบประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง (ระบบสวัสดิการข้าราชการ)
_ “เงินบำรุงติดลบ” คือ รายรับน้อยกว่ารายจ่าย
_ รายรับรายจ่ายของรพ.ภาครัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถูกกำกับทั้งขารายได้ (กองทุนกำหนด) และรายจ่าย (มีระเบียบกำกับการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด)
_ การหารายได้จากทางอื่นติดที่ระเบียบต่างๆไม่เอื้อให้ทำได้ ส่วนใหญ่ต้องไปขอรับบริจาคจากภาคประชาชน/เอกชน
_ เช่น ปี 2560 ที่ “พี่ตูน” ออกมาวิ่งเพื่อช่วยนำเงินมาโปะเงินส่วนนี้ ปีนั้น (ข้อมูลวันที่ 31 ตุลาคมคม 2560) มีรพ.ของรัฐที่เงินติดลบ 558 แห่ง (จากรพ.รัฐ 896 แห่ง) จำนวนเงินกว่า 12,700 ล้านบาท
_ สถานการณ์ COVID-19 ที่รพ.ของรัฐยังพอมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาเพราะภาคประชาชน/เอกชนให้การช่วยเหลืออย่างมาก (โรงพยาบาลแทบไม่มีเงินบำรุงไปซื้อของที่จำเป็นต้องใช้) หมอต้องขอขอบคุณจริงๆนะคะ แต่ในอนาคตที่ COVID-19 ยังไม่จบลงง่ายๆ เศรษฐกิจจะแย่ คนมีรายได้ลดลง ดังนั้นการช่วยเหลือของภาคประชาชน/เอกชนจะลดลงตาม
_ ข้อมูลปีนี้จำนวนรพ.ของรัฐที่เงินบำรุงติดลบยังมากเหมือนเดิม แปลว่า ถ้าต้องนำเงินบำรุง (ที่ติดลบ/ไม่มีอยู่แล้ว) มาจ่ายเป็นเงินเดือน “ข้าราชการบรรจุ” แทนที่ส่วนกลางจะเป็นคนจ่ายตามระเบียบปกติ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานจะไม่ได้รับเงิน (โรงพยาบาลค้างเงินไว้ก่อน/เงินตกเบิก) คนทำงานก็ต้องกินต้องใช้ งานที่ทำก็หนักหนาสาหัส น่าจะบั่นทอนกำลังใจกันมากทีเดียว
.
ยิ่งมีสถานการณ์ COVID-19 ที่รัฐแทบไม่ให้การช่วยเหลือ คาดเดาได้ว่าคนทำงานอาจจะลาออกเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็จะยิ่งทำงานหนักขึ้น
*** ประชาชนจะได้รับการรักษาลดลง เพราะทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอและไม่มีคนทำงาน ***
.
@ เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน (ที่รัฐพูดถึงว่าจะนำมาใช้ในนโยบายนี้)
_ เงินงบประมาณรายจ่ายที่ส่วนราชการเบิกจากคลังไปแล้ว แต่ไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด หรือจ่ายไปแล้วแต่ถูกเรียกคืน และได้นำส่งคลัง ภายหลังส้ินปีงบประมาณหรือภายหลังระยะเวลาเบิกเงินที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี
_ ข้อเท็จจริง คือ เงินส่วนนี้มีน้อยมาก
สรุป: หากนโยบายวันที่ 16 เมษา ถูกนำไปใช้จริง มีโอกาสสูงมากที่ระบบการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐจะพัง จนไม่สามารถให้การรักษากับประชาชนได้อย่างเพียงพอ (ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์และไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้กับ “ข้าราชการใหม่”)
.
ดังนั้นรัฐต้องจ่ายเงินเดือนให้กับ “ข้าราชการใหม่” จากเงินส่วนกลางตามระเบียบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ออกนโยบายมา แล้วผลักภาระให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเงินอยู่แล้ว เป็นคนจ่ายเงิน เพราะไม่มีเงินจะจ่าย
.
ไม่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์...
จะกลายเป็นการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผิดหวังที่รัฐไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
ที่มา หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น