มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียว เอื้อเจ้าสัวข้ามศตวรรษ (2602) จับประชาชนเป็นตัวประกัน .

 17 กุมภาพันธ์ 2564 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดรอยรั่วสัมปทานบีทีเอสสายสีเขียว รถไฟฟ้าเส้นทางแรกของประเทศไทย อาศัยคำสั่ง คสช. ให้ กทม.เจ้าของรถไฟฟ้า ต่อสัญญาจ้างให้เอกชนเป็นผู้เดินรถไปจนถึงปี 2602 ได้

.
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนเดียวกันกับหัวหน้า คสช. เกื้อหนุนให้ผู้ว่า กทม.ที่ตนเองแต่งตั้งอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ชวัญเมือง เอื้อประโยชน์เอกชนรายหนึ่ง ผูกขาดสัมปทานระบบขนส่งมวลชนของประเทศและประชาชน ด้วยค่าโดยสารสูงข้ามศตวรรษ


หนี พ.ร.บ.ร่วมทุน

1. ส.ส.ยุทธพงศ์ เริ่มต้นเปิดศึกอภิปรายล็อคเป้าหมายไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการไล่เรียงลำดับจุดเริ่มต้นของมหากาพย์สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางแรกของไทย
.
2. ปี 2535 กทม.(พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.) เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว บ.ธนายง ของเจ้าสัวชนะ ได้สัมปทานเส้นหมอชิต-ตากสิน-อ่อนนุช (เส้นไข่แดง) 30 ปี (2542-2572) เจ้าสัวลงทุน 100%
.
3. ปี 2548 กทม.(อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่า กทม.) สร้างส่วนต่อขยายเอง โดยไม่ประมูลแต่ กทม.ลงทุนโครงสร้างเอง แล้วยังจ้างกรุงเทพธนาคม (วิสาหกิจของ กทม.) ไปจ้างธนายง (ของเจ้าสัว) เพื่อไปจ้าง BTSC (บริษัทลูกของธนายง) จ้างเดินรถ+ซ่อมบำรุง โดยไม่ผ่านการประมูล หนี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
.
4. ปี 2551 รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พยายามให้รถไฟฟ้ากลับมาเป็นสมบัติของชาติเมื่อหมดสัญญา ด้วยการให้ รฟม.(ในกำกับ ก.คมนาคม) สร้างส่วนต่อขยาย ด้านใต้ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และด้านเหนือ (แบริ่ง-สมุทรปราการ)
.
5. ปี 2552 คณะกรรมการกฤษฎีความมีความเห็นว่า การจ้างวิ่งรถสายสีเขียว ต้องทำตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐฯ
.
6. ปี 2556 พรรคเพื่อไทยร้อง ป.ป.ช.และ DSI ให้ตรวจสอบกรณีที่ กทม.ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ผ่านไป 8 ปี จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ



ม.44 ที่ 3/2562 คำสั่งอาบยาพิษ

7. ปี 2559 กทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) จ้างเจ้าสัววิ่งรถส่วนต่อขยายเส้นใหม่ (ตากสิน-บางหว้า) ทั้งที่ส่วนต่อขยายเป็นของ รฟม.พร้อมให้สัมปทาน BTS ยาวไปถึงปี 2585 ต่อเนื่องจากเส้นไข่แดงที่จะหมดลงในปี 2572
.
8. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุม ครม.มีมติให้ รฟม.(รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) โอนรถไฟฟ้าส่วนที่ดูแลให้ กทม.ทำให้ กทม.ได้ทั้งรถไฟฟ้าและหนี้สิน
.
9. มติ ครม.ยังให้ ก.คลัง หาแหล่งเงินทุนมาชดใช้หนี้ค่าก่อสร้าง ค่าลงทุนให้ รฟม. และระบุว่า “ต้องดูแลไม่ให้ค่าโดยสารแพง ไม่ให้เดือดร้อนประชาชน”
.
10. ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ออกคำสั่ง (ที่3/2562) ให้ กทม.ไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมด
จับประชาชนเป็นตัวประกัน
ค่าแรงต่ำ ค่าโดยสารสูงที่สุดในโลก

11. ต้นปี 2564 BTS ขู่ขึ้นค่าโดยสารที่ 104 บาท ไป-กลับรวม 208 บาท แต่ค่าแรง กทม. 331 บาทต่อวัน เท่ากับว่าประชาชนจะเหลือเงินใช้วันละ 120 บาท เป็นค่าโดยสารที่แพงที่สุดในโลก
.
12. ส.ส.ยุทธพงศ์ เปรียบเทียบค่าโดยสารต่อค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศ พบว่า กรุงปารีสอยู่ที่ 5% โตเกียว 9% เมืองใหญ่ในจีน 3.1% ส่วนไทย ค่าโดยสารคิดเป็น 33% ต่อค่าแรงหนึ่งวัน
.
13. ค่าโดยสาร 104 บาท ส.ส.ยุทธพงศ์ระบุว่า เพื่อแลกกับการที่ กทม. จะต้องให้สัมปทาน BTS ไปถึงปี 2602 หรือไม่
.
14. หากให้ต่อสัมปทานไปถึงปี 2602 ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 65 บาท แม้จะถูกกว่าแต่ยังแพงกว่า หาก รฟม.บริหาร ค่าโดยสารจะอยู่ที่ไม่เกิน 42 บาท
“ตั้งแต่ปี 2561 ท่านทำอะไรอยู่ ทำไมไม่หาแหล่งเงินกู้ตามที่ มติ ครม.เสนอ ไปจ่ายหนี้เขา การที่ กทม.ให้สัมปทานกับ BTS แลกหนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่”
จงใจทำผิดกฎหมาย ขัดมติ ครม.

15. ในการประชุม ครม.ได้หารือเรื่องหนี้สินการก่อสร้างและจ้างวิ่งรถไฟฟ้า BTS บ่อยครั้ง ในช่วงแรกไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก
.
16. แต่ในที่สุด ครม.เปลี่ยนใจ เพราะมีหนังสือจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ ครม.ทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องโปร่งใส ไม่กระทบประชาชน
.
17. ส.ส.ยุทธพงศ์ ชี้ประเด็นว่า สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย นอกจากจะไม่ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว อาจเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุน ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157

ประยุทธ์ เตรียมตัวไปศาลรัฐธรรมนูญ

- มาตรา 56 รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนฯ การจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
- มาตรา 164 ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดย (1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อํานาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบ และระมัดระวังในการดําเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม (2) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด (3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน
- มาตรา 185 (2)ไม่รับ ไม่แทรกแซง หรือก้าวก่าย การเข้ารับสัมปทานของรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ/หรือเข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอน
- มาตรา 279 ประกาศคำสั่งและกระทำของคณะ คสช.หรือหัวหน้า คสช.ที่บังคับใช้อยู่ หรือบังคับใช้ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือตามมาตรา 265 (วรรค2) ไม่ว่าประกาศคำสั่ง การกระทำ ที่มีการบังคับใช้ทางนิติบัญญัติ ทางบริหารหรือตุลาการ ให้ประกาศคำสั่งการกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งการกระทำนั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผลบังคับใช้โดยรัฐธรรมนูญต่อไปในการกระทำเป็น พ.ร.บ.เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่เป็นลักษณะในการใช้อำนาจทางบริหาร ในการยกเลิกหรือแก้ไข กระทำ โดยคำสั่งนายกฯ หรือมติ ครม.แล้วแต่กรณี


สัมปทานข้ามศตวรรษ ผลประโยชน์ 6 แสนล้าน

18. ส.ส.ยุทธพงศ์ โชว์ทักษะอดีตวิศวกรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ด้วยการคำนวนรายได้ในอนาคตที่ BTS จะได้รับถ้า กทม.ต่ออายุสัมปทานให้ BTS ถึงปี 2602 รวม 40 ปี โดยคำนวณจากปริมาณผู้โดยสารต่อวัน คาดว่า BTS จะมีรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท ถือเป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
“หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะออกมาตรา 44 สนับสนุนให้เกิดการผูกขาด ตัดตอน ไม่ให้เกิดการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว”




Share on Google Plus

About บริการทำเว็บไซส์ blogspot สายblogger influencer สายท่องเที่ยว อาหารของกิน บิวตี้ความงาม สร้างด้วยblogspot suraphan x2

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น